Chiang Rai News
แผ่นดินไหว 3.2 อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ยังไม่มีรายงานความเสียหาย
เชียงราย – เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 3.2 แมกนิจูด ลึกประมาณ 1 กิโลเมตร จุดศูนย์กลางอยู่ที่ตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ตำแหน่งพิกัด 19.334 องศาเหนือ 99.439 องศาตะวันออก มีประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน แต่ยังไม่มีรายงานว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้
นายนิกรชัย ภพลือชัย หัวหน้าศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยพิบัติ จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นบนรอยเลื่อนแขนงแม่สรวย ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่เกิดหลังแผ่นดินไหวขนาด 6.3 แมกนิจูด ที่อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ขณะนั้นแผ่นดินไหวเกิดจากรอยเลื่อนพะเยาบน หลังจากนั้นพบรอยเลื่อนแขนงเพิ่มขึ้น แบ่งเป็นรอยเลื่อนแขนงพาน รอยเลื่อนแขนงแม่ลาว และรอยเลื่อนแขนงแม่สรวย
ช่วงนี้พบว่าเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กหลายครั้งในภาคเหนือ สาเหตุหนึ่งมาจากแรงกระตุ้นของแผ่นดินไหวขนาด 7.9 แมกนิจูด บนรอยเลื่อนสะกาย จุดศูนย์กลางอยู่ที่รัฐฉาน ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เหตุการณ์นั้นสร้างความเสียหายทั้งในเมียนมาและประเทศไทย โชคดีที่ไม่มีแผ่นดินไหวซ้ำซ้อนแบบ Double Shock เหมือนเหตุการณ์ที่ตุรกีเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ครั้งนี้มีเพียง Main Shock กับ After Shock เท่านั้น
นายนิกรชัย กล่าวต่อว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากรอยเลื่อนแขนงขนาดเล็ก ยังไม่มีความเสียหาย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน จังหวัดเชียงรายจะมีการทดลองส่งสัญญาณเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยจะทดสอบในระยะใกล้ จุดศูนย์กลางการทดสอบอยู่ที่ศาลากลางจังหวัด ภายในรัศมี 2 กิโลเมตร
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงรายร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT), ทรูคอร์ปอเรชั่น, แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดทดลองส่งสัญญาณแจ้งเตือนภัยผ่านระบบ Cell Broadcast ไปยังโทรศัพท์มือถือในพื้นที่ศาลากลางและบริเวณรอบๆ ในรัศมี 2 กิโลเมตร พร้อมกันกับศาลากลางอีกสามจังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี อุบลราชธานี และสงขลา
การทดสอบนี้จำลองเหตุการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ จนเกิดน้ำป่าไหลหลากช่วงเวลาบ่ายโมง โดยส่งข้อความ Nationnal Alert แจ้งเตือนเหตุการณ์ให้ประชาชนรับทราบผ่านมือถือในพื้นที่เป็นระยะเวลา 10 นาที พร้อมเสียงเตือนยาว 8 วินาที ข้อความที่ส่งถึงประชาชนระบุว่า “ทดสอบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โปรดอย่าตื่นตระหนก This is a test message from Department of Disaster Prevention and Mitigation (DDPM). No action required.” ผลการทดสอบทั้งหมดจะถูกรายงานไปยังห้องบัญชาการของกรมฯ ต่อไป
นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ระบบที่นำมาทดสอบในครั้งนี้ทำงานได้ดี เมื่อถึงเวลาที่กำหนด ระบบส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์ในพื้นที่เป้าหมายได้รวดเร็ว แม้จะมีบางเครื่องไม่ได้รับสัญญาณพร้อมกัน แต่ก็ถือว่าเกือบทุกเครื่องได้รับข้อความแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีโทรศัพท์บางรุ่นโดยเฉพาะเครื่องเก่าที่ไม่รองรับข้อความแจ้งเตือน ระบบนี้ควรครอบคลุมโทรศัพท์ทุกรุ่น ทุกระบบ ทางสำนักงาน ปภ. จะรวบรวมข้อมูลจากการทดสอบครั้งนี้ พร้อมความคิดเห็นของประชาชน เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น
ระบบแจ้งเตือนภัยนี้ช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่เคยประสบภัยน้ำท่วมได้รับข้อมูลล่วงหน้า สามารถเตรียมตัวหรือขนย้ายสิ่งของได้ทันเวลา เชียงรายเองมีการวางมาตรการรับมือปัญหาน้ำท่วม ทั้งการสร้างแนวพนังและวางบิ๊กแบ๊กในจุดเสี่ยง รวมถึงขุดลอกแม่น้ำร่วมกับฝั่งเมียนมาเพื่อให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝน งานขุดลอกแม่น้ำสายยังเดินหน้าโดยกรมการทหารช่างกองทัพภาค 3 เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมซ้ำในช่วงฤดูฝน
จากการสอบถามประชาชนในรัศมี 2 กิโลเมตร รอบศาลากลางเชียงราย พบว่าคนส่วนใหญ่ได้รับสัญญาณแจ้งเตือน ไม่ว่าจะใช้โทรศัพท์รุ่นใดหรือเครือข่ายไหน
นายอภิชิต ปันวิชัย อายุ 51 ปี ชาวชุมชนน้ำลัดบ้านติดลำแม่น้ำกกใกล้ศาลากลาง ให้ความเห็นว่าการแจ้งเตือนผ่านมือถือเข้าถึงได้ง่าย แต่เสียงเตือนไม่ดังและไม่ค่อยดึงดูดความสนใจ หลายคนอาจไม่ได้มองจอทันที อยากให้เพิ่มความดังและเปลี่ยนเสียงเตือนให้เด่นขึ้น เช่นเสียงไซเรน เขามองว่าระบบนี้เป็นประโยชน์ เพราะในอดีตไม่มีระบบเตือน กว่าจะรู้ตัวว่าน้ำท่วมก็ย้ายของไม่ทันแล้ว การแจ้งเตือนแบบนี้จะช่วยลดความเสียหายได้จริง
นายชัยศักดิ์ คนชม ชาวเขตเทศบาลนครเชียงราย กล่าวว่าตนได้รับสัญญาณแจ้งเตือนขณะกินข้าวใกล้ศาลากลาง รับรู้สถานการณ์ได้ทันที เป็นระบบที่ดีและเข้าใจง่ายโดยเฉพาะคนที่ใช้โทรศัพท์ แม้จะยังมีบางคนไม่ได้เปิดโทรศัพท์หรือไม่ได้เห็นข้อความทันที ก็อยากให้มีการแจ้งเตือนแบบอื่นเสริมด้วยโดยรวมแล้วระบบนี้ช่วยให้ประชาชนรับมือภัยพิบัติได้ทันเวลา
เจ้าหน้าที่เชียงราย ระบุ แม่น้ำแม่สาย จำเป็นต้องขุดลอกก่อนถึงฤดูฝน กังวลเรื่องระเบิดน้ำฝน
เจ้าหน้าที่เชียงราย ระบุ แม่น้ำแม่สาย จำเป็นต้องขุดลอกก่อนถึงฤดูฝน กังวลเรื่องระเบิดน้ำฝน